สนใจประกันอุบัติเหตุ Personal Accident

การประกันภัยอุบัติเหตุ (Accident Insurance)

การประกันภัยอุบัติเหตุ เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัย ประสบอุบัติเหตุได้รับความบาดเจ็บทางร่างกาย และหากผลของการบาดเจ็บนั้นส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะเข้ามารับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย หรือจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยต้องสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต

ประเภทสัญญาประกันภัย : การประกันชีวิต

แบ่งออกได้ 3 ประเภท ดังนี้
1.การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล หรือที่นิยมเรียกกันว่า ประกันภัยพีเอ (PA) หมายถึง การทำประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับบุคคล จะเป็นเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น หรือจะรวมถึงบุคคลในครอบครัวด้วยก็ได้
2.การประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม เป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่เหมาะสำหรับองค์กร เพื่อใช้ในการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง มีลักษณะคิดเหมาเป็นรายหัวภายในองค์กร หากลูกจ้างได้พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของบริษัทนั้นๆ แล้ว ก็ถือว่าหมดความคุ้มครอง
3.การประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษา เป็นประกันภัยลักษณะเดียวกับประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม โดยเน้นความคุ้มครองสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เหมาะสำหรับสถาบันการศึกษาต่างๆ

แบบความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ

1.แบบ อบ. 1 คุ้มครอง การเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ และสายตา การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง
2.แบบ อบ. 2 คุ้มครอง การเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ และสายตา การสูญเสียนิ้ว การสูญเสียการรับฟังเสียง/การพูดออกเสียง หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุพพลภาพถาวรบางส่วน
กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มนั้น จะมีแบบให้เลือก 2 แบบ คือ แบบ อบ. 1 และ แบบ อบ. 2 ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษานั้น จะมีเฉพาะแบบ อบ. 1 เท่านั้น
ส่วนแบบความคุ้มครองเพิ่มเติมนั้น สามารถเลือกซื้อได้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกันก็ได้ ดังนี้
  • ทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง
  • ทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน
  • ค่ารักษาพยาบาล

เปรียบเทียบความคุ้มครองประกันภัยอุบัติเหตุกับประกันสุขภาพและประกันชีวิต

ประกันภัยอุบัติเหตุให้ความคุ้มครองทุกกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุเท่านั้น
ประกันสุขภาพให้การชดเชยค่ารักษาพยาบาลไม่ว่าจากสาเหตุใดๆ ทั้งจากอุบัติเหตุและการเจ็บป่วย
ประกันชีวิตให้ความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิตไม่ว่าจากสาเหตุใดๆ ทั้งจากอุบัติเหตุและการเจ็บป่วย

ปัจจัยในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุ

1.กลุ่มคน
การทำประกันภัยแบบกลุ่มจะถูกกว่าการทำประกันภัยรายบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกลุ่มคนมีจำนวนมากเบี้ยประกันภัยก็จะยิ่งลดลง เช่น จำนวนคน 20 – 49 คน จะได้ลดเบี้ยประกันภัย 10% จำนวนคน 200 – 999 คน ได้ลดเบี้ยประกันภัย 25 % เป็นต้น
สำหรับการประกันภัยกลุ่มนักเรียน นิสิต และนักศึกษานั้น เบี้ยประกันภัยจะต่ำกว่ากลุ่มบุคคลทั่วไป แต่ทั้งนี้เบี้ยประกันภัยจะแตกต่างกันตามระดับการศึกษาด้วย โดยระดับอนุบาลและประถม จะมีเบี้ยประกันภัยต่ำสุด และจะสูงขึ้นตามลำดับจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยระดับสายอาชีพจะมีเบี้ยประกันภัยสูงสุด
2.อาชีพ
ในการรับประกันภัยจะแบ่งเป็น 4 ชั้น ได้แก่
  • อาชีพชั้น 1 ลักษณะงานส่วนใหญ่ทำงานประจำในสำนักงาน และทำงานที่ไม่ได้ใช้เครื่องจักร เช่น ผู้บริหาร พนักงานบริษัท แพทย์ เภสัชกร พยาบาล ข้าราชการ เป็นต้น
  • อาชีพชั้น 2 ลักษณะงานที่ทำส่วนใหญ่อยู่นอกสำนักงาน หรือต้องทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา เป็นกลุ่มช่างฝีมือที่มีความชำนาญและทักษะ บางครั้งอาจจะมีการใช้เครื่องจักร เช่น ตัวแทน/นายหน้า วิศวกร ช่างไม้ เจ้าของกิจการขนาดเล็ก เป็นต้น
  • อาชีพชั้น 3 ลักษณะงานที่ทำส่วนใหญ่มีการใช้เครื่องจักรกลหนัก หรือเป็นผู้ใช้แรงงาน หรือทำงานนอกสำนักงานเป็นประจำ เช่น ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านช่าง ด้านการผลิต การขนส่ง พนักงานขาย นักแสดง มัคคุเทศก์ นักข่าว พนักงานขับรถ เป็นต้น
  • อาชีพชั้น 4 ลักษณะงานที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด มีความเสี่ยงสูงมากกว่าอาชีพชั้นอื่นๆ เป็นพิเศษ เช่น นักแสดงผาดโผน คนงานก่อสร้าง พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานรับส่งเอกสาร เป็นต้น
3.อายุ กรมธรรม์ประกันภัยโดยทั่วไป จะกำหนดเกณฑ์อายุของผู้เอาประกันภัยไว้ที่ 16 – 60 ปี แต่ถ้าหากอายุมากกว่า 60 ปี จะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยในราคาสูงกว่าผู้มีอายุต่ำกว่า 60 ปี เนื่องจากสภาพความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
4. ความคุ้มครองที่เลือกซื้อ
สามารถเลือกความคุ้มครองตามความต้องการ อาทิ ประเภท อบ.1 หรือ อบ.2 หรือเลือกซื้อความคุ้มครองเฉพาะบางอย่างได้ เช่น ต้องการความคุ้มครองเฉพาะการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะและทุพพลภาพ โดยไม่เอาความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลก็ได้ การเลือกซื้อตามที่ต้องการจะทำให้ไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยสูงเกินกว่าความจำเป็น
5. ความคุ้มครองเพิ่มเติม
หากผู้เอาประกันภัยต้องการขยายความคุ้มครองไปถึงภัยที่มีการยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัย เช่น การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย การจลาจล/นัดหยุดงาน เป็นต้น เบี้ยประกันภัยก็จะเพิ่มสูงขึ้น
6.จำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนด
เบี้ยประกันภัยจะผันแปรตามจำนวนเงินเอาประกันภัยด้วย ดังนั้น ในกรณีการซื้อผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาล ต้องกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยให้เหมาะสม หากซื้อไว้มากเกินความจำเป็นก็จะเป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยโดยไม่จำเป็น
7. จำนวนความรับผิดส่วนแรก
กรณีที่ผู้เอาประกันภัยยอมรับความเสี่ยงส่วนแรกไว้ก่อน จะทำให้ได้รับส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะใช้กับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล
ที่มา คปภ.

ประโยชน์ของการมีประกันภัย

ประโยชน์ของการประกันภัย ปัจจุบันการประกันภัยได้เข้ามามีบทบาทกับมนุษย์ทั้งในด้านการดำรงชีวิตและการดำเนินธุรกิจ  เป็นประโยชน...